เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(พ่อครัวจึงตอบเสนาบดีว่า)
[372] ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน
มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์
มิใช่เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา
มิใช่เพราะเหตุแห่งสหายและญาติทั้งหลาย
แต่พระจอมภูมิบาลซึ่งเป็นนายของข้าพเจ้า
พระองค์เสวยมังสะเช่นนี้
(กาฬหัตถีเสนาบดีกล่าวว่า)
[373] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย
ทำกรรมอันโหดร้ายทารุณเช่นนี้ได้
เวลาเช้าตรู่ ท่านควรจะเข้าไปในพระราชวัง
แล้วแถลงเหตุนั้นแก่เราต่อพระพักตร์พระราชา
(พ่อครัวกล่าวว่า)
[374] ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง
เวลาเช้าตรู่ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในพระราชวัง
จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านต่อพระพักตร์พระราชา
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[375] ลำดับนั้น ครั้นราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัย
กาฬเสนาบดีได้พาคนทำครัวเข้าไปเฝ้าพระราชา
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
[376] ข้าแต่มหาราช ได้ทราบด้วยเกล้าว่า
พระองค์ทรงใช้พ่อครัวให้ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์จริงหรือ พระเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :159 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(พระราชาตรัสว่า)
[377] แน่นอน เป็นความจริง ท่านกาฬะ
เราใช้พ่อครัว เมื่อเขาทำประโยชน์ให้แก่เรา
ท่านจะด่าเขาทำไม
(กาฬเสนาบดี เมื่อจะนำเรื่องมาแสดง จึงกราบทูลว่า)
[378] ปลาใหญ่ชื่ออานนท์ ติดใจในรสปลาทุกชนิด
เมื่อฝูงปลาหมดสิ้นไป ก็กลับมากินตัวเองตาย
[379] พระองค์ทรงประมาทไปแล้ว
มีพระทัยยินดียิ่งนักในรส(เนื้อมนุษย์)
ถ้าเป็นคนพาลต่อไป ยังไม่ทรงรู้สึกอย่างนี้
จะต้องมาละทิ้งพระโอรส พระมเหสี และพระญาติ
จะกลับมาเสวยตัวพระองค์เอง
[380] เพราะได้ทรงสดับอุทาหรณ์ที่ข้าพระองค์นำมากราบทูลนี้
ขอความพอพระทัยที่จะเสวยเนื้อมนุษย์จงคลายไปเถิด
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มนุษย์
พระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลย
อย่าได้ทรงทำแคว้นนี้ให้ว่างเปล่า
เหมือนปลาอานนท์ทำมหาสมุทรให้ว่างเปล่า
(พระราชาได้สดับดังนั้น เมื่อจะนำเรื่องเก่ามาแสดง จึงตรัสว่า)
[381] กุฎุมพีชื่อว่าสุชาตะ ลูกที่เกิดกับตัวเขา
ไม่ได้ชิ้นลูกหว้าเขาก็ตาย
เพราะชิ้นลูกหว้านั้นหมดสิ้นไป
[382] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุด
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :160 }